นับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทย ประจำปี 2558 อยู่ในระดับเทียร์ 3 ซึ่งเป็นสถานะที่มีระดับเลวร้าย โดยเฉพาะในธุรกิจการประมง ส่งผลให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดให้การปัญหาค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเร่งปลดล็อกข้อกล่าวหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มข้น และแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ โดยบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ล่าสุด กระทรวงที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ เร่งจัดทำรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ (TIP Report) เพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 มกราคม นี้ ก่อนที่ทางกระทรวงการต่างประเทศ จะส่งให้กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯภายในเดือนมกราคมนี้เช่นกัน
จากความพยายามของทางการไทย เริ่มมีท่าทีให้ไทยมีหวังมากขึ้น สะท้อนได้จากการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ตำรวจไทยเริ่มปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์อย่างเข้มข้นในเมื่อเดือนพฤษภาคม ปีก่อน หลังพบหลุมฝังศพหมู่ 30 หลุมกลางค่ายกักกันของขบวนการค้ามนุษย์ติดกับแนวชายแดนมาเลเซีย
รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับ ท่าทีของนายคริส ลีวา จากโครงการอาระกัน ซึ่งให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวโรฮิงจา เปิดเผยว่า ปีนี้มนุษย์เรือลดลงอย่างมาก สืบเนื่องมาจากมาตรการจัดการกับพวกลักลอบการค้ามนุษย์ในไทยและบังกลาเทศ
” ระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2558 มีผู้อพยพล่องเรือมาจากบังกลาเทศและเมียนมาเพียง 1,500 คน ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557″ ตัวเลขมนุษย์เรือสูงถึง 32,000 คน
ขณะที่ พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศูนย์บัญชาการแก้ปัญหา การทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ยืนยันว่า ได้ติดตามแก้ปัญหาเรื่องการใช้แรงงานประมงจริงจังอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งตั้งเป้าจะมีการตรวจสอบโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์ 125โรงงาน ในพื้นที่ 22 จังหวัดติดชายทะเล โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ซึ่งที่ผ่านมามีการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ประกอบการไปแล้ว 14 คดี
และเพื่อสร้างความมั่นใจทางกระทรวงแรงงานจับมือกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV (คือ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา และลาว)บันทึก MOU ร่วมมือกันส่งแรงงานถูกกฎหมายไม่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
0 comments:
Post a Comment